ค้นหาที่เที่ยวในบล็อกนี้

24 พฤศจิกายน 2553

อื่นๆ อีกมากมายในลาว

ที่ลาวมีอะไรหลายๆ อย่างที่ไม่เหมือนประเทศไทย ดังนั้นผมจึงตั้งข้อสังเกตให้ทุกท่านที่มีโอกาสไปเที่ยวลาวจะได้ปฏิบัติตัวได้ถูกต้องครับ

เมื่อไปซื้อของที่ตลาด สามารถใช้เงินบาทไทยได้เลยครับ
พยายามขอเงินทอนเป็นเงินบาทไทย เพราะเงินกีบจะหาที่แลกคืนลำบาก

ตอนกลางวัน ถ้าเห็นเด็กๆ เดินกลับบ้าน
หมายความว่าพวกเขาแวะไปกินข้าวบ้าน 2 ชม.
แล้วกลับมาเรียนต่อ

ป้ายส่วนใหญ่ของลาว จะมีภาษาอังกฤษกำกับเสมอ
แต่เราคนไทยจะสนุกกับการอ่านภาษาลาว เพราะพอจะสะกดคำได้
เช่นป้ายนี้อ่านว่า "ถนน สี สว่าง วง"

ห้องน้ำหญิง ตัว น.ของลาว จะเหมือน ม. และ ยิง ก็คือ หญิง

ห้องน้ำซาย ช.ช้าง ออกเสียงเป็น ซ.โซ่

ฮ่อน 5 = ซอย 5

ผู้หญิงห้ามนุ่งกางเกง เข้ามาติดต่อสถานที่ราชการ
อ่านตามภาษาลาว
แม่ยิง ห้ามนุ่งโส้ง
เข้ามาพัวพันเวียก (งาน)
ขะแหนง ปูกฝัง

ไฟแดง = ไฟอำนาจ
ไฟเหลิอง = ไฟเกียม (เตรียม)
ไฟเขียว = ไฟเสรี
คงเดาเอาได้นะครับ

ทั่วประเทศติดธงชาติลาว และธงคอมมิวนิสต์ (บางแห่งติดกลับหัว)
เพื่อฉลองวันครบรอบ 450 ปีเมืองเวียงจันทน์

กินเฝอ 170,000 ที่เวียงจันทน์

มื้อแรกที่เวียงจันทน์จ่ายไป 170,000 กีบครับ

ไล่บิล (เก็บตังค์) 170,000 กีบ แค่มื้อเดียว

เฝอ 7 ชาม 84,000 กีบ

กินข้าวมื้อหนึ่ง จ่ายกันเป็นแสน

ที่แรกที่ผมไปทานอาหารคือเฝอครับ ร้านนี้อยู่ทางใต้ของเวียงจันทน์ เพราะพอดีลงใต้ เลยแวะทานอาหารก่อน ชื่อร้านคือ "ร้านเฝอ พิลาพอน"

ป้ายหน้าร้าน สนับสนุนโดยน้ำอัดลมยี่ห้อหนึ่ง

ผักสดถือเป็นเครื่องเคียงสำคัญของการกินเฝอ

เหมือนก๋วยเตี๋ยวน้ำบ้านเรา ชามนี้ 40 บาทครับ หรือ 12,000 กีบ

ที่นี่ต้องใส่ซอสพริกศรีราชาด้วยถึงอร่อย

ส้วมที่นี่พอไหวครับ

จากเวียงจันทน์ นั่งรถลงใต้สะหวันนะเขต 2 วัน 1 คืน

มาคราวนี้ ขอแนะนำการท่องเที่ยวต่างประเทศบ้าง นั่นคือประเทศเพื่อนบ้านของเรา ประเทศลาวครับ

ผมและเพื่อนมีเป้าหมายอยู่ 2 แห่ง นั่นคือ แขวงสะหวันนะเขต และเวียงจันทน์ แต่ที่แรกก็ลงใต้ของลาวเลยครับ ระยะทางคือ 464 กม. จากเวียงจันทน์ถึงสะหวันนะเขต เห็นระยะแค่นี้ใช้เวลาถึง 6 ชม.เลยครับ เพราะในประเทศลาวกำหนดความเร็วไว้ที่ 60-80 กม./ชม. ใครที่เคยขัยรถไว อาจจะหงุดหงิดกับการเดินทางในลาว แต่ปลอดภัยครับ เพราะถนนมี 2 เลน วิ่งสวนกัน นั่นมหายความว่าถ้ามีรถอยู่ข้างหน้าก็ต้องรอ แล้วแซง

ที่สำคัญ ถนนในลาว เขาขับชิดขวากันครับ พวงมาลัยคนขับจึงอยู่ทางด้านซ้าย

ก่อนจะเข้าลาวก็ต้องเตรียมพาสปอร์ตไว้ดีที่สุด เพราะสามารถข้ามแขวงได้ (ในลาวไม่เรียกจังหวัด จะเรียกว่าแขวง)

เมื่อถึงด่านที่หนองคาย ต้องเขียนใบเข้า-ออก ก่อนไปยื่นพาสปอร์ต
ถ้าไม่มีต้องใช้หนังสือข้ามแดน เสีย 40 บาท แต่ก็ไปได้แค่แขวงเดียว
พาสปอร์ตจึงดีที่สุดครับ ถ้าจะไปหลายแขวง
ในจุดนี้ใช้เวลาเกือบ 1 ชม. ถ้ามีคนเยอะ และเสียค่ารถข้ามสะพานอีกคนละ 20 บาท

ถ้ามาวันหยุดจะเสียค่าล่วงเวลา หรือโอทีให้เจ้าพนักงานของลาวด้วย 9,000 กีบ


ป้ายทะเบียนรถของแขวง "สะหวันนะเขต"


ปั้มน้ำมันที่ลาว
น้ำมันเบนซินเรียกว่า "แอ้ดซัง" เป็นภาษาฝรั่งเศส
ดีเซลเรียกว่า "กาซวน"


เห็นป้ายนี้ต้องหยุดครับ


หลักกิโลของลาวเป็นแบบนี้ เราใช้ถนนหมายเลข 13 ไปทางใต้


ในเวียงจันทน์จะมีประตูชัย สร้างโดยฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 2505


มุมมองจากทางเหนือ

ยามค่ำคืนของประตูชัย ถนนเงียบสงัดไร้รถรา

อาคารแบบฝรั่งเศสผสมจีน ที่ ท่าแขก แขวงคำม่วน

พี่น้อยคนขับรถชาวลาวผู้นำเราไปเที่ยวในทริปนี้
กับรถคู่ใจฮุนได รถมือสองของเกาหลี นั่งได้ 8 ที่นั่ง

รถประจำทางที่เห็นตลอดเวลา ระหว่างการเดินทาง รถคันนี้วิ่งระหว่าง
ปากเซ-เวียงจันทน์

รูปปั้นไดโนเสาร์พันธุ์คอยาวที่วงเวียนในสะหวันนะเขต


ร้านอาหารริมแม่น้ำโขงฝั่งลาวที่ท่าแขก แขวงคำม่วน
ฝั่งตรงข้ามคือจังหวัดนครพนม


ด่านเก็บเงินค่าผ่านทาง ต้องเสียคันละ 5,000 กีบ


สิ่งที่ต้องระวังระหว่างทางคือ วัว ควาย หมู แพะ เด็กเดินกลับบ้าน และลดจัก (มอเตอร์ไซค์)


แวะฉี่ตลอดทางทุกๆ 1 ชม. ที่ปั้มน้ำมัน (เฮ้อ!)

ที่พักในสะหวันนะเขต โรงแรมสุลินสุก



กลางคืนแวะมาเดินเล่นที่ สะหวันเวกัส บ่อนคาสิโนที่นั่น ยิ่งใหญ่อลังการ์


ถนนทางเข้า สะหวันเวกัส

02 พฤศจิกายน 2553

มีอะไรเที่ยวที่เชียงคาน

นอกจากเชียงคานจะเป็นเมืองเก่าสไตล์คลาสสิคแบบถิ่นแล้ว ยังมีสถานที่ใกล้เคียงเป็นที่ให้ไปแวะเที่ยวอีกด้วย สถานที่แรกขอแนะนำ "ภูทอก" ซึ่งหา่งจากเชียงคานไม่ไกล แต่ต้องมีรถขับขึ้นไปบนภู หรือหาเช่ารถจากเชียงคาน

เนื่องจากเป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้ ที่ TOT ได้รับอนุญาต
จึงต้องติดต่อขอเข้าไปบนภูก่อน ควรโทร.ก่อนไปถึงที่
เพราะสัญญาณโทรศัพท์อย่าง True Dtac Hutch จะไม่มีสัญญาณ
ยกเว้น AIS ครับ ที่มีสัญญาณ

เจอคานเหล็กห้ามเข้า อย่าตกใจ ถ้าท่านโทรแล้ว เดี๋ยวเขามาเปิดให้

วิวบนภูทอกมองลงมายังด้านล่าง เหมือนมองจากเครื่องบิน

เมื่อมองมาแม่น้ำโขงก็จะมองเห็นวิวนี้
แต่ถ้ามาหน้าหนาว ก็จะมีทะเลหมอกที่นี่เหมือนกัน

อีกที่ก็คือ "แก่งคุ้ดคู้" ครับ เป็นสวนสาธารณะ และมีของที่ระลึกขาย และของกินเล่นอย่างมะพร้าวแก้ว หรือแก้วทดกรอบ

แก่งคุ้ดคู้ ในหน้าแล้ง จะมองเห็นแก่งชัดเจน

แต่หน้าน้ำ จะมองไม่เห็นแก่งเลย

ป้ายแก่งคุ้ดคู้ที่จัดทำขึ้นมา ให้ถ่ายภา่พที่ระลึก

อีกที่ ต้องขับรถเลยไปอีกหน่อย มาจากตำนานเดียวกับ "จึ่งขึ่งดังแดง" ต้นกำเนิดนิทานพื้นบ้านแก่งคุ้ดคู้ นั่นก็คือ "พระบาทภูควายเงิน"

ขับรถขึ้นเขาชันพอสมควร ก็จะพบรูปสลักควายน่ารักๆ แบบนี้

อีกแบบเป็นควายเหมือนจริง ตัวใหญ่
มาจากตำนานเดียวกับแก่งคุ้ดคู้

ที่เชียงคานก็มีที่เที่ยวหลักๆ แค่นี้ครับ ที่แก่งคุ้ดคู้ขี่จักรยานมาได้ครับ แค่ 4 กม. แต่ที่อื่นควรเช่ารถมาจะดีกว่าครับ

หาของกินที่เชียงคาน

คราวนี้ขอแนะนำร้านอาหารในแบบต่างๆ ที่เชียงคาน ซึ่งต้องขอบอกก่อนว่า ยังไม่มีเวลาไปกินทุกร้าน นี่ขนาดมาถึง 2 รอบ ในเดือนเดียวกัน ทั้งต้นและปลายเดือนตุลาคม (2010)

ร้านแรกขอเสนอ "ร้านลาบลุงส." เป็นร้านอาหารอิสาน อยู่ซอยเดียวกับข้าวปุ่นน้ำแจ่ว ถนนใหญ่เป็นหลัก แต่อันนั้นต้องคราวหน้า คงจะไปกินสักครั้ง มื้อนี้เป็นอาหารกลางวันครับ ราคาพอสมน้ำสมราคา

มาอิสานทั้งที ก็ขอกินอาหารพื้นเมืองสักหน่อย
ที่นี่อาจจะพบข้าราชการจะมากินอาหาร และดื่มเครื่องดื่ม
อย่าแปลกใจนะครับ เพราะอาหารที่นี่รสจัดจ้าน
เหมาะกับเป็นกับแกล้ม

ผักพื้นเมืองมาเป็นเครื่องเคียง ที่มีรสชาดประหลาดลิ้น
สำหรับคนกรุงอย่างผม

ต้มแซ่บเครื่องในวัว อร่อยสุดๆ น้ำซุปเข้มข้น
แค่มองภาพก็นึกถึงรสชาด จนน้ำลายสอ

เนื้อน้ำตก ของโปรดของลูกคนเล็ก
ทางร้านปรับรสชาดความเผ็ดออก ก็อร่อยแบบเด็กๆ

เสือร้องไห้ รสกลมกล่อม ออกเค็มๆ มันๆ ดุนลิ้น
และส้มตำ แบบอิสานขนานแท้ รสปลาแดกเข้มๆ

ส่วนมื้อนี้เป็นอาหารเช้า ต้องร้านนี้ครับ อยู่ถนนใหญ่ ชื่อร้านคือ "ข้าวเปียก ซอย 10"

เสริฟด้วยน้ำมะตูมร้อนๆ อุ่นสบายคอ หอมอ่อนๆ กลิ่นมะตูม

หน้าร้านเป็นแบบนี้ครับ อยู่ติดถนนใหญ่ตรงข้ามวัดมัชฌิมาราม

ป้ายหน้าร้าน

ข้าวเปียก มีลักษณะเหมือนเส้นก๋วยเตี๋ยว แต่นุ่มกว่า
ถ้าใส่ไข่ก็ 25 บาทครับ ไม่แพง

อีกร้าน เป็นร้านอาหารที่ถ้าไม่รีบ ก็ไปกินที่นี่ได้ แต่ถ้ารีบ ขอบอกว่า อย่าเด็ดขาด เพราะชื่อร้าน เขาก็บอกอยู่แล้วว่า "ลุก"

นั่งรอนานหลายสิบนาที กว่าอาหารจะมาเสริฟ
"ลุก" ในที่นี้ อาจหมายถึงให้ "ลุก" ไปเดินเล่นก่อนได้

สุดท้ายก็เป็นร้าน "เฮือนหลวงพระบาง" เป็นร้านอาหารพื้นเมืองของลาว แต่น่าจะเป็นอาหารจีนประยุกต์มากกว่าเป็นอาหารลาวแท้ๆ ราคาก็สูงตามบรรยากาศริมโขง เมนูที่ผมกินก็เกือบๆ 500 บาท กับข้าว 3 อย่าง และข้าวผัดจานใหญ่อีกจาน

อยู่บนถนนศรีเชียงคาน ถนนสายคลาสสิคของที่นั่น

ชื่อเดิมของร้าน ที่หันหน้าสู่ริมโขง บ่งบอกว่าเป็นร้านอาหารจีน

โต๊ะอาหารจะถูกจัดแบบนี้เฉพาะยามเย็น

บรรยากาศช่วงนี้กำลังเย็นสบาย

"เอาะหลาม" เมนูแรกที่แนะนำ อร่อยมากๆ
รสชาดแบบเดียวกับแกงลาว แต่เด็ดตรงที่เนื้อน่องลาย
กรุบกรอบนุ่มลิ้น

ผัดเห็ดหอมสด หมูกรอบ
รสชาดคุ้นลิ้น แต่ได้ความสดของเห็ดหอม

ปลาคังลวกจิ้ม จานนี้รสชาดเดิมๆ ไม่แตกต่างจากที่เคยกินมา

ดูแล้วก็ลองวางแผนดีๆ นะครับ เพราะนอกจากที่ท่านนั่งรถมาทั้งคืน พักในห้องพักที่ห้องน้ำแยกเหมือนที่บ้าน อาหารหารกินก็เอาให้พอดีกับเงินที่เตรียมมานะครับ เพราะยังมีของฝากของที่ระลึกอีกหลายอย่างที่จะเล่าให้ฟังในเรื่องต่อไป